เรียนรู้การสร้างการ์ตูน Animation ด้วยโปรแกรม Adobe Flash
การสร้างการ์ตูนเอนิเมชั่นถือว่าเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคนเลยก็ว่าได้ เพราะว่าการ์ตูนถือเป็นสิ่งที่เราทุกคนคลุกคลีมาตั้งแต่เด็กและหากมีโอกาสก็อยากที่จะสัมผัสการได้สร้างการ์ตูนแบบนี้สักครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามการจะเลือกวิธีในการสร้างการ์ตูนประเภทนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะจำเป็นจะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในสิ่งต่างๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งโปรแกรมหนึ่งที่สามารถเลือกนำมาใช้สร้างการ์ตูนเอนิเมชั่นได้ก็คือ Adobe Flash และลองมาเรียนรู้กันว่าการสร้างการ์ตูนเอนิเมชั่นนั้นสามารถทำอย่างไรได้บ้าง
โดยปกติแล้วการสร้างการ์ตูนเอนิเมชั่นก็คือการสร้างภาพเคลื่อนไหวนั่นเอง โดยการใช้โปรแกรม Adobe Flash นั้นจะสามารถสร้างการเคลื่อนไหวของภาพได้ 2 รูปแบบ ประกอบไปด้วย
- การเคลื่อนไหวแบบ Frame by Frame – เป็นการกำหนดรูปแบบของการเปลี่ยนแปลงในตัวรูปภาพที่แตกต่างกันออกไปในทุกๆ เฟรมของภาพ พูดง่ายๆ ก็คือไม่ว่าจะมีกี่รูปภาพแต่ละรูปก็จะเปลี่ยนรูปแบบไปทุกภาพ วิธีการนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการสร้างภาพเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างมีความสลับซับซ้อนค่อนข้างสูง แต่ปัญหาของมันก็คือไฟล์ภาพที่ได้จะมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่มาก การที่เราจะเลือกสร้างภาพเคลื่อนไหวแบบ Frame by Frame นั้นจะต้องมีการสร้างภาพที่ถูกกำหนดว่าจะให้ภาพนั้นเคลื่อนไหวในลักษณะใดเอาไว้อย่างชัดเจน และด้วยเหตุผลที่เป็นแบบนี้ทำให้นักสร้างการ์ตูนเอนิเมชั่นส่วนใหญ่จะไม่ค่อยนิยมใช้กันมากนัก เนื่องจากจะเสียเวลาในการสร้างการเคลื่อนไหวแต่ละตัวค่อนข้างนาน และพอทำเสร็จไฟล์ก็มีขนาดใหญ่อย่างที่ได้กล่าวไป แต่ถึงกระนั้นหากเป็นการสร้างเอนิเมชั่นที่ใช้รายละเอียดค่อนข้างสูงก็ยังจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการนี้อยู่
- การเคลื่อนไหวแบบ Tween – จะสร้างภาพเคลื่อนไหวจากภาพเริ่มต้นและภาพสุดท้าย โดยโปรแกรมจะทำการเปลี่ยนแปลงภาพให้โดยอัตโนมัติ จะมีการสร้างภาพที่ถูกเปลี่ยนแปลงแค่ 2 ภาพ ซึ่งจะทำให้ขนาดของไฟล์แบบนี้จะเล็กกว่าแบบแรก โดยจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้
- Motion Tween – จะสร้างภาพเคลื่อนไหวที่ถูกกำหนดการเคลื่อนที่ ย่อ หมุน ขยายตัวภาพ นิยมใช้ค่อนข้างมาก และนี่คือค่าเริ่มต้นที่ได้ถูกโปรแกรมกำหนดเอาไว้ให้ โปรแกรมจะสร้างภาพเคลื่อนไหวและเส้นของการเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติ
- Shape Tween – จะสร้างภาพเคลื่อนไหวโดยการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของภาพจากภาพหนึ่งให้กลายเป็นอีกภาพหนึ่ง ซึ่งสามารถกำหนดค่าการเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสี ขนาด ทิศทาง ตำแหน่ง โดยภาพที่นำมาใช้กับวิธีนี้ต้องเป็นภาพธรรมดาหรือภาพที่ถูกวาดขึ้น ซึ่งถ้าหากว่าหากวาดขึ้นมาจะต้องนำมาใช้คำสั่ง Break apart เพื่อให้กลายเป็นรูปร่างธรรมดาเสียก่อนจึงจะนำไปใช้งานได้